Labour Party

พรรคแรงงาน

​​​​​​​​​​​​​​​​​     พรรคแรงงานเป็นพรรคการเมืองกลางซ้ายของอังกฤษที่ก่อตั้งขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ด้วยความร่วมมือของพรรคและกลุ่มการเมืองในแนวสังคมนิยมรวมทั้งขบวนการสหภาพแรงงานเพื่อจะได้มีพรรคการเมืองที่เป็นปากเสียงหรือต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานโดยตรง จากการเริ่มต้นที่มีสมาชิกในสภาสามัญ (House of Commons) เพียง ๒ คน พรรคก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลในทศวรรษ ๑๙๒๐ ในขณะที่ พรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* พรรคสำคัญเก่าแก่มีสมาชิกสภาลดลงเรื่อย ๆ และถูกพรรคแรงงานเข้ามาแทนที่ในฐานะพรรคสำคัญของประเทศในที่สุด พรรคแรงงานจึงกลายเป็นพรรคที่ช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* มาตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ พรรคแรงงานได้เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๗ และยังเป็นรัฐบาลอยู่จนปัจจุบัน ( ค.ศ. ๒๐๐๘) แม้พรรคยังจัดตนเองเป็นพรรคแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ พรรคก็ปรับแนวทางสังคมนิยมดั้งเดิมของตนเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มต่าง ๆ มาก ขึ้นและรับนโยบายบางประการของพรรคอนุรักษนิยมและนโยบายตลาดเสรีเข้ามาปรับใช้ ทำให้มีผู้พิจารณาว่าพรรคแรงงานเป็นพรรคแนวสังคมประชาธิปไตยและบ้างก็ว่าเป็นพรรคเสรีนิยมใหม่มากกว่าเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ในการนี้ ผู้นำของพรรคแถลงว่าพรรคแรงงานเป็นพรรคที่เสนอแนวทางที่สาม (Third Way) ให้แก่การเมืองอังกฤษที่เคยแบ่งเป็นเพียงฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา

      พรรคแรงงานก่อตัวขึ้นจากที่มีการขยายจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ชายอังกฤษตามพระราชบัญญัติปฏิรูปการเลือกตั้งสมาชิกสภาใน ค.ศ. ๑๘๖๗ และ ค.ศ. ๑๘๘๔ จนทำให้ผู้ใช้แรงงานทั้งในเมืองและในชนบทเกือบทั้งหมดสามารถมีส่วนร่วมในการเมืองของประเทศ สมาชิกบางคนของขบวนการสหภาพแรงงานก็แสดงความสนใจที่จะเข้าสู่วงการเมือง ในช่วงแรก พรรคเสรีนิยมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพแรงงาน และมีกลุ่มสังคมนิยมเล็ก ๆ เกิดขึ้นหลายกลุ่มที่ต้องการเชื่อมต่ออุดมการณ์ของตนให้เป็นรูปธรรมโดยให้ฝ่ายการเมืองออกเป็นนโยบาย เช่นพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) สมาคมเฟเบียน (Fabian Society) ซึ่งยึดแนวปฏิรูปสังคมของลัทธิเฟเบียน (Fabianism)* สหพันธ์สังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Federation) และพรรคแรงงานชาวสกอต (Scottish Labour Party) ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ สมาชิกจากสมาคมควบรวมของพนักงานการรถไฟ (Amalgamated Society of Railway Servants) เสนอให้สมัชชาสหภาพแรงงาน (Trade Union Congress - TUC) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยสหภาพแรงงานต่าง ๆ เรียกประชุมองค์กรฝ่ายซ้ายทั้งหลาย เพื่อร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานเดียวขึ้นทำหน้าที่จัดส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ ที่ประชุมใหญ่สหภาพแรงงานจึงจัดการประชุมพิเศษขึ้นที่เมโมเรียลฮอลล์ (Memorial Hall) ถนนฟาร์ริงดัน (Farringdon) กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๐ ที่ประชุมได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการผู้แทนผู้ใช้แรงงาน (Labour Representation Committee - LRC) เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในการจัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงาน เมื่อไม่มีการตั้งประธานคณะกรรมาธิการ จึงมีการเลือกเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald)* แห่งพรรคแรงงานอิสระเป็นเลขาธิการ
      องค์กรใหม่ยังดำเนินงานไม่พร้อมนักเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ ที่เรียกว่า "การเลือกตั้งสีกากี (Khaki Election)" จึงจัดส่งผู้สมัครในนามขององค์กรได้เพียง ๑๕ คน มี ๒ คนเท่านั้นที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาสามัญสำเร็จ คือ แคร์ ฮาร์ดี (Keir Hardie) จากเมอร์ทีร์ ทิดฟิล (Merthyr Tydfil) และริชาร์ด เบลล์ (Richard Bell) จากดาร์บี (Derby) แต่ในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๐๓ คณะกรรมาธิการผู้แทนผู้ใช้แรงงานประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อม ๒ แห่ง เพราะใน ค.ศ.๑๙๐๑ ได้มีการตัดสินให้สหภาพแรงงานชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประกอบการในกรณีที่มีการนัดหยุดงานและมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยถือเอาคำวินิจฉัยทาฟเวล (Taff Vale judgment) อันเป็นกรณีที่บริษัทรถไฟทาฟเวล (Taff Vale Railway Company) ฟ้องสมาคมควบรวมของพนักงานรถไฟจนได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายจำนวน ๒๓,๐๐๐ ปอนด์ คำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สหภาพแรงงานจึงรวมพลังกันสนับสนุนคณะกรรมาธิการผู้แทนผู้ใช้แรงงานเพื่อต่อต้านรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของอาร์เทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour)* ที่ประกาศคำวินิจฉัยซึ่งแสดงให้เห็นว่าอยู่ข้างกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่าเห็นใจผู้ใช้แรงงาน ในที่สุดพระราชบัญญัติข้อพิพาทแรงงาน (Trade Disputes Act) ที่ออกใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ได้กลับคำวินิจฉัยดังกล่าว

     ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๐๖ คณะกรรมาธิการผู้แทนผู้ใช้แรงงานสามารถส่งผู้สมัครในสังกัดเข้าสภาสามัญได้ถึง ๒๙ คน ทั้งนี้เพราะมีการทำความตกลงลับระหว่างแมกดอนัลด์กับเฮอร์เบิร์ต แกลดสโตน (Herbert Gladstone) หัวหน้าวิปของพรรคเสรีนิยมที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันเองระหว่างผู้สมัครจากทั้งสองพรรค ในการประชุมครั้งแรกหลังการได้รับเลือกตั้งของสมาชิกสภา ๒๙ คน เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ที่ประชุมลงมติให้ใช้คำว่า พรรคแรงงาน นับตั้งแต่นั้น แคร์ฮาร์ดีซึ่งมีบทบาทนำในการตั้งพรรคแรงงานมาแต่ต้นได้รับเลือกเป็นประธานพรรคแรงงานในสภาซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นหัวหน้าพรรค ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๐๙ และจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้นทำให้ชนชั้นแรงงานยิ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สหภาพแรงงานหลายแห่งโดยเฉพาะสหภาพของกรรมกรถ่านหินก็เปลี่ยนจากการที่เคยสนับสนุนพรรคเสรีนิยมมายาวนานมาสนับสนุนพรรคแรงงานแทน ในการเลือกตั้งทั่วไป ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๑๐ พรรคแรงงานจึงได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐ และ ๔๒ ที่นั่งตามลำดับ
      ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดความแตกแยกความคิดเห็นในหมู่สมาชิกพรรคแรงงานเพราะมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการทำสงคราม แมกดอนัลด์ซึ่งรณรงค์ต่อต้านสงครามได้ลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคแรงงานในสภา อาเทอร์ เฮนเดอร์สัน (Arthur Henderson) เข้าดำรงตำแหน่งแทนและได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีสงคราม (War Cabinet) ของเฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท (Herbert Henry Asquith)* ผู้นำพรรคเสรีนิยมด้วย แต่เฮนเดอร์สันก็ลาออกจากรัฐบาลใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เพราะกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ของพรรคแรงงานต่อต้านการระดมพลเพื่อสงครามโดยมีพรรคแรงงานอิสระเป็นแกนนำ หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง พรรคแรงงานได้จัดระบบใหม่ มีการจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ที่ร่างโดยซิดนีย์ เวบบ์ (Sidney Webb)* พรรคต้องการจะเป็นพรรคระดับชาติ จึงส่งผู้สมัคร ๓๘๘ คนใน ค.ศ. ๑๙๑๘ และเกินกว่า ๔๐๐ คน ในครั้งต่อ ๆ มา พรรคเสรีนิยมซึ่งแตกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มสนับสนุนแอสควิทและกลุ่มสนับสนุนเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* ก็สูญเสียที่นั่งในสภามากขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๒๒ พรรคแรงงานกลายเป็นพรรคสำคัญอันดับสองของอังกฤษแทน และเป็นพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมอย่างเป็นทางการแมกดอนัลด์ได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานเป็นทางการคนแรก ฐานเสียงของพรรคอยู่ในเขตอุตสาหกรรมในภาคเหนือ และภาคกลางของอังกฤษ ตอนกลางของสกอตแลนด์ และเวลส์
      ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๒๓ แม้พรรคอนุรักษนิยมจะได้ที่นั่งมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เสียงข้างมากในสภา เมื่อพรรคเสรีนิยมกลุ่มแอสควิทสนับสนุนให้พรรคแรงงานจัดตั้งรัฐบาล แมกดอนัลด์จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ และจัดตั้งรัฐบาลพรรคแรงงานชุดแรกขึ้นโดยมีสมาชิกของพรรคในสภา ๑๙๑ คนเท่านั้นซึ่งยังไม่ถึงหนึ่งในสามของสมาชิกสภาสามัญทั้งหมด รัฐบาลพรรคแรงงานบริหารไปได้ ๙ เดือนก็ถูกลงมติไม่ไว้วางใจ จึงต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในเดือนตุลาคม ผลการเลือกตั้งทำให้พรรคอนุรักษนิยมได้กลับมาบริหารประเทศเพราะได้คะแนนจากผู้ที่เคยออกเสียงให้พรรคเสรีนิยม พรรคแรงงานได้คะแนนเสียงมากกว่าเดิมแม้ว่าเพียง ๔ วันก่อนวันลงคะแนนเกิดการตีพิมพ์จดหมายซีโนเวียฟ (Zinoviev Letter) ในหนังสือพิมพ์ของอังกฤษ เนื้อความในจดหมายต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นจดหมายจากกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* ผู้อำนวยการองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ที่มีถึงพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษยุยงให้ก่อการปฏิวัติขึ้น ผู้เผยแพร่จดหมายดังกล่าวมุ่งหวังให้พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคที่รับรองรัฐบาลโซเวียตเสื่อมเสียชื่อเสียง กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษก็ได้มีหนังสือประท้วงไปยังสหภาพโซเวียต แต่หลังจากนั้น เป็นที่เชื่อกันว่าจดหมายซีโนเวียฟเป็นจดหมายที่ปลอมขึ้น
     ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๒๙ พรรคแรงงานได้ชัยชนะเป็นครั้งแรกโดยได้ ๒๘๗ ที่นั่ง แต่ยังคงต้องอาศัยคะแนนเสียงของพรรคเสรีนิยมในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่ หลังการเลือกตั้งผ่านไปไม่นานตลาดหุ้นที่นครนิวยอร์กล่ม จนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ตามมาซึ่งกระทบกระเทือนเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นทวีคูณใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เป็นจำนวนเกินกว่า ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน รัฐบาลพรรคแรงงานได้ตั้งคณะกรรมาธิการที่มีเซอร์จอร์จ เมย์ (George May) เป็นประธานศึกษาสถานะการคลังสาธารณะ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ รายงานเมย์ (May Report) เรียกร้องให้ลดค่าแรงภาคราชการและตัดทอนการใช้จ่ายในกิจการสาธารณะลงให้มาก โดยเฉพาะการจ่ายเงินให้แก่ผู้ว่างงานเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดดุลงบประมาณ ข้อเสนอตามรายงานนี้ทำให้สหภาพแรงงานต่าง ๆ และฐานมวลชนระดับล่างของพรรคแรงงานขุ่นเคือง รัฐมนตรีหลายคนก็ปฏิเสธที่จะดำเนินตามมาตรการที่รายงานเสนอแนะ แต่แมกดอนัลด์ และฟิลิป สโนว์เดน (Philip Snowden) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่าจะต้องใช้มาตรการตามรายงานเมย์เพื่อไม่ให้งบประมาณขาดดุล ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐ ออสวาลด์ มอสลีย์ (Oswald Mosley)* ผู้บริหารแห่งดัชชีแลงคาสเตอร์ (Chancellor of the Duchy of Lancaster) ซึ่งเทียบเท่ารัฐมนตรีไม่สังกัดกระทรวง เสนอบันทึกช่วยจำเรียกร้องให้ควบคุมการนำเข้าสินค้าและการธนาคารและเพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เมื่อรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเสนอ มอสลีย์ก็ลาออกและไปจัดตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ขึ้นซึ่งต่อมา คือ สหภาพฟาสซิสต์แห่งอังกฤษ (British Union of Fascists)
     การถกเถียงเกี่ยวกับมาตรการลดการใช้จ่ายและค่าแรงทำให้เกิดความแตกแยกในรัฐบาลพรรคแรงงาน ภาวะชะงักงันทางการเมืองทำให้นักลงทุนตื่นตกใจ การเคลื่อนย้ายเงินทุนและทองคำออกนอกประเทศมีผลซ้ำเติมเศรษฐกิจยิ่งขึ้น แมกดอนัลด์จึงตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ (National Government) ขึ้นซึ่งเป็นการสนองพระราชดำริในพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* ด้วย ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ แมกดอนัลด์ยื่นใบลาออกของรัฐมนตรีพรรคแรงงานทั้งหมดและจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นซึ่งมีเขาเป็นผู้นำ และมีสมาชิกอาวุโสของพรรคแรงงานไม่กี่คน อาทิเช่น สโนว์เดน และเจ.เอช. ทอมัส (J.H. Thomas) รัฐมนตรีดูแลอาณาจักร (dominion) ในเครือจักรภพ (Commonwealth) ที่เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม และพรรคเสรีนิยมด้วย เมื่อแมกดอนัลด์และผู้สนับสนุนถูกขับไล่ออกจากพรรคแรงงานหลังการถูกประณามว่าเป็นผู้ทรยศก็ได้พากันไปจัดตั้งพรรคแรงงานแห่งชาติ (National Labour Party) ขึ้น พรรคแรงงานเดิมที่มีเฮนเดอร์สันเป็นหัวหน้า และสมาชิกพรรคเสรีนิยมจำนวนหนึ่งก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ไม่นานต่อมาในปีเดียวกัน มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคอนุรักษนิยมมีชัยชนะอย่างถล่มทลาย พรรคแรงงานได้เพียง ๕๒ ที่นั่งซึ่งน้อยกว่าใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ถึง ๒๒๕ ที่นั่ง เฮนเดอร์สันเองก็สูญเสียที่นั่ง จอร์จ แลนสเบอรี (George Lansbury) ซึ่งมีนโยบายใฝ่สันติเป็นอดีตรัฐมนตรีของพรรคแรงงานเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกตั้งจึงขึ้นเป็นผู้นำพรรคแรงงานแทนเฮนเดอร์สัน ส่วนแมกดอนัลด์ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลแห่งชาติที่ชี้นำโดยพรรคอนุรักษนิยมต่อไปจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๓๕
     พรรคแรงงานเผชิญความแตกแยกอีกใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เมื่อพรรคแรงงานอิสระแสดงความจำนงขอออกจากการเกี่ยวพันกันที่มีมานาน ต่อมา แลนสเบอรีมีความเห็นไม่ลงรอยกับสมาชิกพรรคหลายคนในด้านนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะจากการที่แลนสเบอรีต่อต้านการใช้มาตรการลงโทษอิตาลีที่ก่อสงครามอะบิสซิเนีย (Abyssinian War)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ในการประชุมพรรคแรงงานปีนั้น แลนสเบอรีจึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค คลีเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* ซึ่งในระยะแรกได้รับการมองว่าเป็นเพียงหัวหน้าพรรคขัดตาทัพขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่ต่อมาแอตต์ลีกลายเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของพรรคแรงงาน
     ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อเนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)* ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากฝ่ายพันธมิตรพ่ายแพ้ในยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีคนต่อมาเห็นว่าควรจัดตั้งรัฐบาลผสมยามสงครามเหมือนกับครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมีรัฐมนตรีมาจากพรรคต่าง ๆ แอตต์ลีเป็นทั้งรัฐมนตรีว่ากระทรวงมุรธาธร (Lord Privy Seal) และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีสงครามด้วย อีกทั้งในที่สุดได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งสงครามในยุโรปยุติลงสมาชิกอาวุโสของพรรคแรงงานคนอื่น ๆ ก็ได้ตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น เออร์เนสต์ เบวิน(Ernest Bevin)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำหน้าที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจยามสงครามและการจัดสรรกำลังคน เฮอร์เบิร์ต มอร์ริสัน (Herbert Morrison)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฮิว ดาลตัน (Hugh Dalton) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการสงคราม (Minister of Economic Warfare) และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเอ.วี. อะเล็กซานเดอร์ (A.V. Alexander) กลับสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรืออีกครั้ง
     เมื่อการรบในยุโรปสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ รัฐบาลพรรคแรงงานไม่ต้องการซ้ำรอยความผิดพลาดของพรรคเสรีนิยมเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงถอนตัวจากรัฐบาลและเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมโดยเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพรรคอนุรักษนิยมของเชอร์ชิลล์ พรรคแรงงานประสบชัยชนะอย่างท่วมท้นจนผู้สังเกตการณ์การเมืองแปลกใจไปตาม ๆ กัน โดยได้เสียงข้างมากถึง ๑๔๕ ที่นั่ง แม้ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้พรรคแรงงานได้ชัยชนะ แต่ในช่วงที่สงครามยังดำเนินไปนั้น มีการสำรวจความเห็นจากสาธารณชนและพบว่าคนทั่วไปโน้มเอียงไปทางนิยมซ้ายและต้องการให้มีการปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง ชาวอังกฤษไม่ต้องการกลับสู่สภาวะฝืดเคืองและการที่มีผู้ตกงานจำนวนมากเหมือนในช่วงสงครามซึ่งทั่วไปเห็นกันว่าเกี่ยวข้องกับพรรคอนุรักษนิยม
     รัฐบาลของคลีเมนต์ แอตต์ลีจัดว่าเป็นรัฐบาลที่ก้าวหน้ามากที่สุดรัฐบาลหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มีการใช้นโยบายคัดสรรการโอนกิจการอุตสาหกรรมและสาธารณประโยชน์เป็นของรัฐ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ กิจการเหมืองถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็กกล้า ไฟฟ้า น้ำ ก๊าซ โทรศัพท์ และการขนส่งในประเทศซึ่งรวมรถไฟ คลอง และ การขนส่งสินค้าทางรถบรรทุก พรรคได้พัฒนาระบบรัฐสวัสดิการที่มีคำขวัญว่า "นับจากอู่สู่สุสาน" (from the cradle to the grave) ที่วิลเลียม เบเวอริดจ์ (William Beveridge)* นักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมได้วางไว้โดยมีการออกกฎหมาย ๒ ฉบับใน ค.ศ. ๑๙๔๖ คือ พระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติ (National Insurance Act) และพระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Services Act) พรรคแรงงานถือว่าการสร้างระบบประกันสุขภาพแห่งชาติใน ค.ศ. ๑๙๔๘ จากเงินภาษี โดยอะไนริน เบวัน (Aneurin Bevan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผลงานที่พรรคภาคภูมิใจมาก รัฐบาลแอตต์ลียังเริ่มกระบวนการสลายจักรวรรดิอังกฤษเมื่อให้เอกราชแก่อินเดียใน ค.ศ. ๑๙๔๗ และในปีต่อมาก็ให้แก่พม่าและศรีลังกา
     เมื่อสงครามเย็น (Cold War)* เริ่มขึ้น แอตต์ลีและรัฐมนตรีอีก ๖ คน ได้ประชุมลับในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๗ และได้ลงมติลับดำเนินการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ของสมาชิกพรรคแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ยึดแนวสันติและต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าพรรคแรงงานยังมีชัยชนะหลังการเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๕๐ แต่ประเด็นงบประมาณในการป้องกันประเทศซึ่งสูงถึงร้อยละ ๑๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (Gross Domestic Product - GDP) ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ ในช่วงสงครามเกาหลี (Korean War) ทำให้รัฐบาลถูกกดดันให้หาเงินชดเชยจากแหล่งอื่น ๆ และก่อความแตกแยกในหมู่สมาชิกพรรค ฮิว เกตสเกลล์ (Hugh Gaitskell) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศให้เก็บค่าธรรมเนียมจากใบสั่งยาสำหรับคนไข้โครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ เออเนสต์ เบวินและฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)* ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วยกับการหย่อนหลักการให้การรักษาฟรีจึงลาออก ไม่นานต่อมา พรรคแรงงานก็พ่ายแพ้พรรคอนุรักษนิยมในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๕๑ ถึงแม้จะเป็นคะแนนเพียงเล็กน้อยพรรคอนุรักษนิยมที่เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยอมรับการดำเนินการปฏิรูปสังคมส่วนใหญ่ของพรรคแรงงานที่ดำเนินในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๑ และจะสานต่อโดยถือว่าเป็นมติเอกฉันท์หลังสงครามซึ่งคงอยู่จนกระทั่งทศวรรษ ๑๙๗๐
     หลังจากพ่ายแพ้แก่พรรคอนุรักษนิยมใน ค.ศ. ๑๙๕๑ เกิดความแตกแยกในพรรคแรงงานอีกจากประเด็นทิศทางในอนาคตของอุดมการณ์สังคมนิยมฝ่ายหนึ่งนำโดยเกตสเกลล์ซึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนแอตต์ลีใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ต้องการให้พรรคดำเนินนโยบายสังคมประชาธิปไตยสายกลาง ส่วนอีกฝ่ายที่นำโดยอาเนอรินเบวันต้องการให้พรรคดำเนินนโยบายสังคมนิยมที่เข้มข้นกว่าเดิม ความเห็นที่แตกต่างกันนี้กอปรกับสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นและผู้คนทั่วไปก็พอใจกับรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมก็ทำให้พรรคแรงงานต้องเป็นฝ่ายค้านอยู่ ๑๓ ปี สมาชิกพรรคแรงงานยังเห็นต่างกันในอีก ๓ ประเด็น คือ การลดอาวุธนิวเคลียร์ การแก้ไขมาตราที่ ๔ ของธรรมนูญพรรคซึ่งว่าด้วยการโอนวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดให้เป็นของรัฐ และการที่อังกฤษจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community - EEC)* ความตึงเครียดระหว่างสมาชิกพรรค ๒ กลุ่มเพิ่มขึ้นเมื่อแอตต์ลีลาออก และเบวันพ่ายแพ้เกตสเกลล์ จนกระทั่งเกิดกรณีวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ที่ทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมได้รับเสียงตำหนิรุนแรง พรรคแรงงานจึงกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แต่พรรคแรงงานก็ยังไม่สามารถได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มา
     ฮาโรลด์ วิลสัน ซึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนเกตสเกลล์ที่เสียชีวิตกะทันหันใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลพรรคแรงงานในปีต่อมา เพราะเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงขาลงและเกิดเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องโดยเฉพาะกรณีโพรฟูโม (Profumo Affair) ขึ้นในพรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นกรณีที่จอห์น โพรฟูโม (John Profumo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกเปิดโปงในสภาว่ามีความสัมพันธ์ลับกับคริสทีน คีลเลอร์ (Christine Keeler) ซึ่งคบหาสนิทกับผู้ช่วยทูตทหารเรือชาวรัสเซียในขณะเดียวกัน วิลสันต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมของอังกฤษให้ทันสมัยขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จัดตั้งรัฐวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูงโดยการกำกับของกระทรวงเทคโนโลยี และให้รัฐเข้าปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค นอกจากนี้รัฐบาลจะปรับปรุงดุลการค้า เก็บภาษีจากสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือย และเพื่อเป็นการเอาใจฝ่ายซ้ายในพรรครัฐบาลวิลสันจึงโอนกิจการเหล็กกล้าเป็นของรัฐอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๖๗ โดยจัดตั้งบรรษัทเหล็กกล้าอังกฤษ (British Steel) ขึ้น ในด้านการปฏิรูปสังคมนั้น รอย เจงกินส์ (Roy Jenkins)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ผลักดันการออกกฎหมายอนุญาตเกี่ยวกับรักร่วมเพศและการทำแท้ง ปรับปรุงกฎหมายหย่าร้างยกเลิกการตรวจพิจารณาบทละคร และบทลงโทษประหารชีวิต (ยกเว้นบางข้อหา เช่น กบฏ) ความสำเร็จอีกประการหนึ่ง คือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด (Open University) ขึ้น ในช่วงนี้พรรคแรงงานต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินจนรัฐบาลวิลสันจำต้องลดค่าเงินปอนด์ ความกดดันเรื่องค่าเงินรุนแรงขึ้นเมื่อวิลสันสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียตนามแต่ปฏิเสธที่จะส่งความช่วยเหลือ ประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) จึงขุ่นเคืองมากและไม่เห็นเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาจะช่วยอังกฤษพยุงค่าเงินปอนด์
      ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เอดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath)* ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมก็นำพรรคมีชัยต่อพรรคแรงงานและได้จัดตั้งรัฐบาล แต่วิลสันก็นำพรรคแรงงานกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีกใน ค.ศ. ๑๙๗๔ แต่ ๒ ปีต่อมาเขาก็ลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคและนายกรัฐมนตรีอย่างกะทันหันท่ามกลางความสงสัยของผู้คนโดยอ้างว่าเป็นความปรารถนายาวนานว่าต้องการเกษียณการทำงานเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี จนภายหลังถึงได้รู้กันว่าเขาเป็นโรคอัลซ์ไฮเมอร์ (Alzheimer) ระยะเริ่มต้น เจมส์ คัลลาแฮน (James Callaghan) ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลแทนซึ่งก็ได้ปรับสมาชิกฝ่ายซ้ายออกจากคณะรัฐมนตรีทันทีรัฐบาลชุดนี้ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่จนต้องจำต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund - IMF)* ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการกู้เงิน เช่น การตัดทอนการใช้จ่ายของภาครัฐลงอย่างมากซึ่งขัดกับความต้องการของบรรดาผู้สนับสนุนพรรค และจำต้องยกเลิกแผนงานก้าวหน้าต่าง ๆ ซึ่งทำให้ปีกซ้ายในพรรคไม่พอใจมาก
     รัฐบาลพรรคแรงงานเผชิญทั้งภาวะเงินเฟ้อรุนแรงใน ค.ศ. ๑๙๗๕ อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์น้ำมันใน ค.ศ. ๑๙๗๓ และช่วงฤดูหนาวของ ค.ศ. ๑๙๗๘-๑๙๗๙ ซึ่งมีการนัดหยุดงานอย่างแพร่หลายเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าแรงในหมู่คนขับรถบรรทุก พนักงานรถไฟ พนักงานในโรงพยาบาลและหน่วยงานปกครองท้องถิ่น จนมีผู้เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า "ฤดูหนาวที่ขุ่นเคืองใจ (Winter of Discontent)" ท่าทีผ่อนคลายของนายกรัฐมนตรีคัลลาแฮนยิ่งทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในความสามารถของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหา หลังการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ รัฐบาลจึงจำต้องจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ซึ่งมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* นำพรรคอนุรักษนิยมได้ชัยชนะ ความพ่ายแพ้ก่อให้เกิดการแตกร้าวในพรรคแรงงาน มีการแบ่งแยกมากขึ้นระหว่างปีกซ้ายที่มีจำนวนมากกว่าและชี้นำพรรคอยู่โดยมีไมเคิล ฟุต (Michael Foot) และโทนี เบนน์ (Tony Benn) เป็นผู้นำกับกลุ่มปีกขวาที่มีเดนิส ฮีลี (Denis Healey) เป็นผู้นำการที่พรรคมุ่งไปในทิศทางของพรรคฝ่ายซ้ายมากขึ้นก็ทำให้อดีตรัฐมนตรี ๔ คนของพรรคได้แก่ เชอร์ลีย์ วิลเลียมส์ (Shirley Williams) วิลเลียม รอดเจอส์ (William Rodgers) รอย เจงกินส์ และเดวิด โอเวน (David Owen) ที่เรียกว่า กลุ่ม ๔ คน (Gang of Four) ซึ่งเป็นพวกสมาชิกสายกลางออกแถลงการณ์ไลม์เฮาส์ (Limehouse Declaration) เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๑ ประกาศแยกตัวไปจัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย [ (Social Democratic Party) ต่อมาพรรคนี้ได้รวมกับพรรคเสรีนิยมที่พรรคแรงงานแซงขึ้นมามีบทบาทแทนเป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party) ซึ่งมีความสำคัญป็นอันดับ ๓ ในการเมืองอังกฤษปัจจุบัน] ขึ้น ไมเคิล ฟุตยิ่งนำพรรคไปแนวทางซ้ายจัดมากขึ้น ดังในการเลือกตั้ง ค.ศ.๑๙๘๓ พรรคแถลงนโยบายยกเลิกสภาขุนนาง การลดอาวุธนิวเคลียร์ฝ่ายเดียว การถอนอังกฤษออกจากประชาคมยุโรป (European Community)* และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* ตลอดจนการขยายขอบเขตและเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเศรษฐกิจโดยรัฐ ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ผู้สนับสนุนปีกขวาของพรรคปลีกตัวออก ขณะที่การหาเสียงของพรรคแรงงานทำให้ผู้คนหวั่นหวาด รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของแทตเชอร์มีคะแนนนิยมพุ่งขึ้นจากชัยชนะในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falklands War)* พรรคอนุรักษนิยมจึงฟื้นตัวจากการเสื่อมความนิยมที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงาน
     เมื่อพรรคแรงงานแพ้อย่างหมดรูปใน ค.ศ. ๑๙๘๓ ฟุตก็ลาออกจากตำแหน่ง นีล คินน็อก (Neil Kinnock) ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นนักประท้วงของฝ่ายซ้ายขึ้นเป็นผู้นำแทน แต่คินน็อกแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักปฏิบัติมากกว่าไมเคิล ฟุต คินน็อกนำพรรคไปทางสายกลางอย่างจริงจังโดยยุบกลุ่มปีกซ้ายต่าง ๆ ของพรรค กลับลำนโยบายของพรรคเกี่ยวกับการถอนตัวจากประชาคมยุโรปและองค์การนาโต และเน้นว่าพรรคจะละทิ้งนโยบายการเก็บภาษีสูง และการโอนกิจการเป็นของรัฐในรูปแบบเดิม ๆ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าพรรคกำลังหันเหจากการเป็นพรรคเอียงซ้ายไปเป็นพรรคสายกลาง การจัดระเบียบพรรคใหม่ทำให้กลุ่มสังคมนิยมหนุ่มของพรรคแรงงาน (Labour Party Young Socialists) สลายตัว และพรรคก็แสดงการสนับสนุนการบูรณาการยุโรปอย่างแข็งขัน
     ก่อนการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๙๒ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากแทตเชอร์พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแล้ว พรรคแรงงานได้ปฏิรูปตนเองหลายประการจนผู้คนคาดว่าจะได้เป็นรัฐบาลต่อไปแน่นอนผลสำรวจส่วนใหญ่ระบุว่าพรรคแรงงานมีคะแนนนำพรรคอนุรักษนิยมอยู่ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ผลการเลือกตั้งได้สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอังกฤษเพราะกลับเป็นว่าพรรคแรงงานพ่ายแพ้ นีล คินน็อกจึงลาออกและจอห์น สมิท (John Smith) ได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคแทนบรรยากาศในพรรคเกิดความตึงเครียดอีกครั้งระหว่างสมาชิกฝ่ายซ้ายและฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายพัฒนาให้ทันสมัย ทั้งสองฝ่ายต้องการปรับจุดยืนของพรรคอย่างรุนแรง ในการประชุมพรรคปีต่อมา สมิทสามารถเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของพรรคบางข้อและลดบทบาทของสหภาพแรงงานในการคัดเลือกผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาสามัญเป็นผลสำเร็จ ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ สมิทเกิดหัวใจวายกะทันหันและสิ้นชีวิต โทนี แบลร์ (Tony Blair)* ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแทน นับตั้งแต่นั้น ผู้คนเริ่มได้ยินคำว่า "แรงงานใหม่" (New Labour) ซึ่ง ๒ ปีต่อมาพรรคได้พิมพ์ร่างแถลงการณ์ชื่อ New Labour, New Life for Britain เพื่อชี้ว่าพรรคได้มีการปรับปรุงตัวใหม่ โดยมีการแก้ไขมาตราที่ ๔ ของธรรมนูญพรรคว่าด้วยการโอนกิจการเป็นของรัฐ และยังลดบทบาทของสหภาพแรงงานในการเลือกหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรคดังนั้น คำว่า "แรงงานเก่า (Old Labour)" จึงมีนัยหมายถึงสมาชิกปีกซ้ายรุ่นเก่าหรือพวกที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหภาพแรงงาน การเริ่มยุคใหม่ของพรรคแรงงานด้วยคำขวัญใหม่นี้ทำให้เป็นที่ล้อเลียนของพรรคอนุรักษนิยมในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยมีการติดโปสเตอร์ที่จั่วหัวว่า "แรงงานใหม่ อันตรายใหม่ (New Labour, New Danger)"
     โทนี แบลร์ กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown)* ปีเตอร์ แมนเดลสัน (Peter Mandelson) แอนโทนี กิดเดนส์ (Anthony Giddens) และอะลัสแตร์ แคมป์เบลล์ (Alastair Campbell) มักได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นกลุ่มที่สร้างแนวคิดใหม่ให้แก่พรรค เป็นพวกสนับสนุนแนวคิดสังคมประชาธิปไตยในยุโรปในทศวรรษ ๑๙๙๐ และ เรียกว่า "แนวทางที่สาม" แม้แนวนโยบายใหม่ที่ถอยห่างจากลัทธิสังคมนิยมมากขึ้นเพื่อหันสู่นโยบายตลาดเสรีจะเพิ่มความนิยมให้แก่พรรค แต่ก็ทำให้สมาชิกระดับรากหญ้าหลายคนเหินห่างจากพรรคไปเช่นกัน การปรับพรรคแรงงานให้ทันสมัยขึ้นขณะที่รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมมี จอห์น เมเจอร์ (John Major)* เป็นผู้นำที่ขาดสีสันทำให้พรรคแรงงานได้รับความสนใจจากชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมาก พรรคยังหาเสียงกับผู้เคยสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมด้วยการให้สัญญาว่าจะไม่เปลี่ยนแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลเมเจอร์ และจะไม่เพิ่มภาษีรายได้พรรคแรงงานได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๗๗ อย่างถล่มทลาย หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลของแบลร์พยายามดำเนินนโยบายเศรษฐกิจกึ่งกลางระหว่างแนวสังคมนิยมที่เน้นศูนย์กลางแบบรัฐบาลพรรคแรงงานในอดีตกับแนวนโยบายตลาดเสรีของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมที่ดำเนินมาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๙-๑๙๙๗ การดำเนินงานที่ได้รับความนิยมได้แก่ การออกพระราชบัญญัติค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติ (National Minimum Wage Act) ฉบับแรกของอังกฤษ และลดจำนวนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยซึ่งกอร์ดอนบราวน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดโครงการที่มุ่งไปยังครอบครัวใหม่ นโยบายภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อย และการให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานยามฤดูหนาวแก่ผู้รับบำนาญ อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ถูกโจมตีว่ามีนโยบายหลายอย่างโน้มเอียงไปทางขวามากไป ดังที่สมาชิกสภาสังกัดพรรคแรงงานจำนวน ๔๗ คนประณามการที่รัฐสืบต่อนโยบายของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมในการตัดเงินสงเคราะห์ที่ให้แก่ผู้รับภาระเลี้ยงดูบุตรฝ่ายเดียวหรือการคิดค่าธรรมเนียมการศึกษากับนักศึกษามหาวิทยาลัย
     รัฐบาลยุคแรงงานใหม่ใกล้ชิดกับกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่ารัฐบาลของพรรคแรงงานชุดก่อน ๆ เห็นได้จากคณะทำงานจัดทำนโยบายหลายชุดประกอบด้วยผู้นำทางธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังเช่น ลอร์ด ไซมอน (Lord Simon) ซึ่งเป็นอดีตประธานบริษัทน้ำมันอังกฤษ ลอร์ดเซนส์บิวรี (Lord Sainsbury) ที่มีอาณาจักรซูเปอร์มาร์เกต และอะเลค รีด (Alec Reed) แห่งบริษัทรีด (Reed Employment เป็นบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่บริการด้านจัดหางานและทรัพยากรบุคคล) ในด้านต่างประเทศนั้น พรรคแรงงานต้องการให้อังกฤษเป็นศูนย์กลางของกิจการยุโรปโดยที่ยังคงสายสัมพันธ์ทางการทูตและการทหารกับสหรัฐอเมริกาต่อไป ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตยและการทำสงครามกับลัทธิก่อการร้าย แต่การที่นายกรัฐมนตรีแบลร์ส่งทหารอังกฤษไปปฏิบัติการในอิรักตามคำเสนอของสหรัฐอเมริกาทำให้สาธารณชนในอังกฤษตลอดจนสมาชิกพรรคเองไม่พอใจ จึงมีผลทำให้พรรคได้คะแนนเสียงข้างมากลดลงในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๒๐๐๕ ผู้สนับสนุนพรรคแรงงานจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับอิรัก และอัฟกานิสถานส่วนนโยบายภายในก็ถูกวิจารณ์ว่าการเพิ่มภาษี และการเพิ่มรายจ่ายของรัฐเพื่อการศึกษาและสุขภาพนั้นได้ผลไม่คุ้ม
     แม้พรรคแรงงานจะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั้งใน ค.ศ. ๒๐๐๑ และ ค.ศ. ๒๐๐๕ แต่คะแนนนิยมที่พรรคได้รับลดลงเรื่อย ๆ ผู้ที่เห็นว่านโยบายของรัฐบาลเอียงขวามากไปก็เปลี่ยนไปลงคะแนนให้พรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับ ๓ มากขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ พรรคแรงงานสูญเสียกว่า ๓๐๐ ที่นั่งในสภาท้องถิ่น และพรรคอนุรักษนิยมประสบความสำเร็จนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๒ เป็นต้นมา โทนี แบลร์จึงถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคทั้ง ๆ ที่เขาเคยประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ ๔ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน และจะอยู่บริหารประเทศจนจบสมัยที่สามแบลร์ถูกโจมตีมากขึ้นจากการปฏิเสธที่จะเรียกร้องให้อิสราเอลหยุดยิงในสงครามเลบานอน ค.ศ. ๒๐๐๖ และถูกตอกย้ำความผิดพลาดที่อังกฤษติดตามสหรัฐอเมริกาเข้าไปในอิรัก และกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินบริจาคให้พรรคเพื่อยศขุนนาง หลังจากการลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลของสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งแม้จะไม่ใช่ตำแหน่งสำคัญนัก แบลร์จึงประกาศในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ว่าเขาจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๗ กอร์ดอน บราวน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมายาวนานได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคคนใหม่และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน แม้ผู้คนจะเห็นว่าบราวน์มีบุคลิกจืดชืดกว่าแบลร์มากและอาจจะห่างเหินกับประชาชนและฐานเสียง แต่ก็รู้สึกกันโดยทั่วไปว่าประเทศต้องการผู้นำใหม่เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น และอาจเป็นการปัดเป่าภาพลักษณ์ของอังกฤษที่แสดงการคล้อยตามและสนับสนุนสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) ในกรณีอิรักอย่างแข็งขันเกินไปจนอังกฤษต้องมัวหมองไปด้วย การเปลี่ยนผู้นำอาจทำให้ อังกฤษสง่างามขึ้น


รอเบิร์ต กาสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอลส์เบอรี (Robert Gascoyne-Cecil, 3rd Marquis of Salisbury)* ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ร่วมมือกับกลุ่มเสรีนิยมยูเนียนนิสต์ (Liberal Unionist) จัดการเลือกตั้งนี้ขึ้นโดยใช้จังหวะที่ รัฐบาลกำลังได้รับเสียงชื่นชมจากชัยชนะหลาย ครั้งในสงครามบัวร์ (Boer War ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒)* ครั้งที่ ๒ และเรียกว่าการเลือกตั้งสีกากีตามเครื่องแบบสีกากีชุดใหม่ที่ กองทัพ เพิ่งจัดทำขึ้น

คำตั้ง
Labour Party
คำเทียบ
พรรคแรงงาน
คำสำคัญ
- กิดเดนส์, แอนโทนี
- แบลร์, โทนี
- สมิท, จอห์น
- บุช, จอร์จ
- แคมป์เบลล์, อะลัสแตร์
- โอเวน, เดวิด
- กลุ่มสังคมนิยมหนุ่มของพรรคแรงงาน
- สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
- วิลเลียมส์, เชอร์ลีย์
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- ฮีลีย์, เดนิส
- ฟุต, ไมเคิล
- รอดเจอส์, วิลเลียม
- พรรคเสรีประชาธิปไตย
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- ประชาคมยุโรป
- เบนน์, โทนี
- พรรคแรงงาน
- คณะกรรมาธิการผู้แทนผู้ใช้แรงงาน
- แถลงการณ์ไลม์เฮาส์
- ทิดฟิล, เมอร์ทีร์
- คำวินิจฉัยทาฟเวล
- แกลดสโตน, เฮอร์เบิร์ต
- พรรคแรงงานอิสระ
- พรรคเสรีนิยม
- การเลือกตั้งสีกากี
- พรรคแรงงานชาวสกอต
- กลุ่มเสรีนิยมยูเนียนนิสต์
- เวบบ์, ซิดนีย์
- สงครามบัวร์
- พระราชบัญญัติข้อพิพาทแรงงาน
- เบลล์, ริชาร์ด
- ซอลส์เบอรี, รอเบิร์ต แกสคอยน์-เซซิลมาร์ควิสที่ ๓ แห่ง
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- อาร์เทอร์ เจมส์ บัลฟอร์
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- ฮาร์ดี, แคร์
- คณะรัฐมนตรีสงคราม
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- จดหมายซีโนเวียฟ
- แอสควิท, เฮอร์เบิร์ต เฮนรี
- เฮนเดอร์สัน, อาเทอร์
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- จอร์จที่ ๕, พระเจ้า
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- องค์การโคมินเทิร์น
- แลนส์เบอรี, จอร์จ
- พรรคแรงงานแห่งชาติ
- เมย์, เซอร์จอร์จ
- สหภาพฟาสซิสต์แห่งอังกฤษ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สโนว์เดน, ฟิลิป
- ทอมัส, เจ.เอช.
- มอร์ริสัน, เฮอร์เบิร์ต สแตนลีย์
- พระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติ
- สงครามอะบิสซิเนีย
- เบวิน, เออร์เนสต์
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
- บราวน์, กอร์ดอน
- ดาลตัน, ฮิว
- เบเวอริดจ์, วิลเลียม
- พระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติ
- เบวัน, อะไนริน
- เกตสเกลล์, ฮิว
- ยุทธการที่นอร์เวย์
- เจงกินส์, รอย
- กลุ่ม ๔ คน
- ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
- กรณีโพรฟูโม
- สงครามเย็น
- วิลสัน, ฮาโรลด์
- จอห์นสัน, ลินดอน บี.
- โพรฟูโม, จอห์น
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- คัลลาแฮน, เจมส์
- แมนเดลสัน, ปีเตอร์
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ
- คินน็อก, นีล
- พระราชบัญญัติค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติ
- เมเจอร์, จอห์น
- สหพันธ์สังคมประชาธิปไตย
- สมาคมควบรวมของพนักงานการรถไฟ
- สมาคมเฟเบียน
- สภาสามัญ
- ลัทธิเฟเบียน
- สมัชชาสหภาพแรงงาน
- พรรคอนุรักษนิยม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf